top of page

เฮาไป่ฮู่ (We Don’t Know)

การวาดภาพผสมเทคนิคการม้วนกระดาษ

โดย พลอยใส คำยอด

Meet the Artist

Film Slate Marker

พลอยใส คำยอด

พลอยใส นักเรียนชั้นม.ปลาย จากโรงเรียนปางมะผ้าพิทยาสรรพ์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน สนใจงานศิลปะและได้เข้าร่วมประกวดวาดภาพในกิจกรรมต่างๆ นอกจากนี้ยังเชี่ยวชาญในการทำงานฝีมือ เช่น การม้วนกระดาษ และประดิษฐ์ของใช้จากทักษะงานฝีมือ พลอยใสเป็นชาวไทใหญ่และอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความหลากหลายของกลุ่มชนเผ่า จึงทำให้ได้เห็นความเชื่อและวิถีชีวิตที่แตกต่างออกไป และทำให้พลอยใสอยากจะนำเสนอเรื่องราวความแตกต่างผ่านประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

แสดงความคิดเห็นต่อผลงาน

บทสัมภาษณ์พลอยใส คำยอด (พลอยใส)

14 กันยายน 2564

 

ไอเดียมาจากไหน ?

หนูมองว่าเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่กว้างมาก มันยากที่จะบรรยายได้ ก็เลยมองว่าเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใกล้ตัวเรา[มาเล่า]ดีกว่า เราก็จะรู้จักมากกว่าอย่างอื่น[เรื่องที่ไกลตัว] ก็เลยทำเป็นชิ้นงานที่แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ปัจจุบันค่ะ ซึ่งงานนี้ตัวชื่อว่า “เฮาไป่ฮู่” เป็นภาษาไทใหญ่ค่ะ ภาษาของชนเผ่าหนูเอง ซึ่งแปลว่า “เราไม่รู้” นั่นเองค่ะ 

 

ประเด็นหลักที่อยากให้คนเห็นคืออะไร ?

อยากจะสื่อให้เห็นว่าในชุมชนของเรา ไม่ว่าจะเป็นญาติผู้ใหญ่หรือคนในชุมชนหลายคน หนู[คิด]ว่าเขาไม่รู้ข้อมูล หรือบางคนอาจจะไม่รู้จักเลยว่าโลกร้อนคืออะไรหรือเกิดจากอะไร สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร และมันส่งผลกระทบอย่างไรกับชีวิตพวกเขาบ้างค่ะ หนูคิดว่าประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนของหนูเขาไม่รู้ค่ะเพราะในการดำรงชีวิตของเขาเขาก็ต้องทำแต่งานเพื่อให้ชีวิตอยู่รอด 

 

นอกจากนี้ ในงานยังมีส่วนที่เหมือนเป็นหมอกควันที่คล้ายเป็นหน้าคนค่ะ จริง ๆ มันไม่ใช่หมอกควันค่ะ มันเป็นธูป หนูจะแสดงให้เห็นถึงว่าส่วนใหญ่คนในชุมชนของหนูถ้าเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ เขาก็จะมองว่าป็นเหตุที่เกิดจากเทพเจ้าที่เขานับถือไม่พอใจ หรือ การผิดผี อะไรอย่างไรนั้นค่ะ พอเกิดเหตุการณ์แบบนี้แล้ว เขาก็จะเอาอาหารและสิ่งต่าง ๆ ไปบูชาและจุดธูปไหว้ค่ะ นั่นคือวิธีการแก้ปัญหาของเขาซึ่งจริง ๆ แล้วหนูไม่ได้มองว่ามันผิดนะคะ มันก็มีเรื่องโลกร้อนมาเกี่ยวข้อง หนูอยากสื่อให้เห็นถึงว่าเขาจัดการโดยวิธีแบบนี้เฉย ๆ

 

ส่วนข้างในที่เป็นดอกไม้นะคะ หนูอยากสื่อให้เห็นว่าเขานับถือเทพเจ้า ผีไม้ ผีบ้านผีเรือน เขาเชื่อว่าจะทำให้ธรรมชาติ การเกษตรทุกอย่างอุดมสมบูรณ์ค่ะ ก็เลยจะเอามาในแนวของดอกไม้ปกติที่ดูอุดมสมบูรณ์ ส่วนรอบข้างก็จะเป็นชาวบ้านที่ดำรงชีวิตตามปกติซึ่งจะเกี่ยวกับการเกษตรส่วนใหญ่ เลยเน้นไปทางการเกษตรและต้นไม้ ถ้าสังเกตเห็นสีแดง ๆ ที่แปะไว้ในงาน ก็จะเปรียบเสมือนตัวแทนของภัยพิบัติ หรือ[ผลกระทบ]ที่เกิดจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงค่ะ ซึ่งหนูมองว่ามันอยู่ใกล้ตัวเขามาก ๆ แต่เขาไม่รู้ค่ะ แต่มันค่อย ๆ เปลี่ยนแแปลงและส่งผลกระทบต่อชีวิตของเขา ตรงด้านนอกที่เป็นพุ่มไม้ที่ดูเป็นการเกษตรค่ะ จะมีบางจุดที่หนูได้จุดไฟรนนิด ๆ หน่อย ๆ เพื่อให้เห็นว่า เขาไม่รู้และยังดำเนินชีวิตตามปกติประมาณนี้ค่ะ

 

ส่วนด้านล่างสุดที่เป็นนักศึกษาถือป้ายรณรงค์นะคะ หนูอยากจะสื่อให้เห็นว่าในชุมชมของหนูผู้ใหญ่หลาย ๆ ท่านก็ไม่ได้รู้หรือบางส่วนก็รู้แต่ไม่ได้ใส่ใจมาก แต่ที่จะเห็นว่าใส่ใจคือนักเรียนค่ะที่อยู่ในระบบการศึกษา และเข้าถึง[ข้อมูล]จึงจะรับรู้มากกว่าชาวบ้านทั่วไปค่ะ หนูมองว่าก็มีแต่เยาวชนที่อยู่ในสถานศึกษาที่ออกมารณรงค์และรู้ข้อมูลในเรื่องนี้ เลยสร้างอออกมาในรูปแบบของนักเรียนถือป้ายประมาณนี้ค่ะ

 

ส่วนตัวเราเอง จุดเริ่มต้นในการสนใจเรื่องนี้มาจากไหน?

เริ่มจากที่โรงเรียนค่ะ จากปัญหาเล็ก ๆ เลยซึ่งก็คือขยะค่ะ ที่โรงเรียนก็จะมีการปลูกฝังว่าโลกร้อนคืออะไร ทำไมถึงร้อน แก้ยังไง สิ่งเหล่านี้คือพื้นฐานที่เรารู้จากโรงเรียน แต่จะมีปัญหาเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นในโรงเรียนที่ทำให้หนูเอะใจก็คือ ปัญหาเรื่องขยะ หนูมองว่ามันไม่ควรเป็นปัญหาแต่ก็เป็น มันเกิดจากคำถามเล็ก ๆ ตรงนั้นค่ะว่าทำไมแค่ขยะถึงเกิดเป็นปัญหา แล้วก็เริ่มคิดไปไกลขึ้น ขยะเกิดจากอะไร ส่งผลกระทบอย่างไร และก็ไปสนใจในเรื่องอื่น ๆ ค่ะ

 

 

เรื่องไอเดียในการทำงาน การม้วนกระดาษมันมีความสำคัญกับเราอย่างไรในการผลิตงานนี้ออกมา ?

ตอนแรกหนูไม่คิดว่าจะใส่การม้วนกระดาษมากขนาดนี้ค่ะ พอหลังๆ เริ่มรู้สึกว่าการม้วนกระดาษเป็นสิ่งที่เราถนัด และพอใส่ไปเรื่อย ๆ เราก็คิดว่ามันดูสวยงามค่ะ การม้วนกระดาษเป็นอะไรที่ประณีต ละเอียดอ่อน และค่อนข้างใช้เวลานานอยู่แล้ว แล้วยิ่งมาทำเป็นดอกไม้สื่อเรื่องราวต่าง ๆ หนูคิดว่ามันดูสวยงามและชวนให้มองมากขึ้นค่ะ กระดาษที่นำมาม้วนส่วนใหญ่ก็นำมาจากกระดาษรีไซเคิลที่โรงเรียนค่ะ 

 

ปกติแล้วเราทำงานฝีมืออยู่แล้ว โดยเฉพาะการม้วนกระดาษ ก่อนหน้านี้เราเคยทำอย่างอื่นมาไหม เราเริ่มจากงานรูปแบบไหน ?

จริง ๆ จัง ๆ ก็ทำเป็นม้วนกระดาษค่ะ ถ้างานฝีมือเล็ก ๆ ก็มี[ทำ]อย่างอื่นมาก่อนหน้านี้ค่ะ เช่น งานประดิษฐ์ของใช้จากเศษวัสดุค่ะ เพราะเริ่มมาจากโรงเรียนที่ครูสอนค่ะ มีประดิษฐ์ดอกไม้จากหลอดที่ใช้แล้วค่ะ

 

เราพัฒนางานมากว่าสามเดือน มีการเปลี่ยนแปลงไอเดียระหว่างทาง มีช่วงที่คิดงานไม่ออก หรือคิดว่ายังไม่ใช่สำหรับเรา อยากจะให้ช่วยแชร์กระบวนการในการทำงาน และปัญหาที่พบเจอระหว่างทาง 

ตั้งแต่ตอนแรก สิ่งที่เป็นปัญหาคือรู้ว่าหัวข้องานจะไปแนวทางไหนแต่ไม่ถึงกับมีภาพในหัวค่ะ ไม่ได้รู้ว่าสิ่งที่ต้องทำคืออะไรบ้าง พอเราไม่มีกรอบตรงนี้มันก็ทำให้ความคิดเราฟุ้งซ่านมาก ความคิดในตอนแรกคือเน้นการวาดภาพซะส่วนใหญ่ 

 

ไอเดียตอนแรกคืออยากแสดงให้เห็นถึงโลกที่ปกติกับโลกร้อนประมาณนี้ ตอนนั้นก็คิดอย่างเดียวว่าทำยังไงให้ทุกคนเข้าถึง เข้าใจ และตระหนักว่าโลกร้อนเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน พอทำไปสักพักก็รู้สึกว่าไม่พอใจ มันรู้สึกว่ามันแปลก ๆ จนถึงจุดหนึ่งมีความรู้สึกว่าโลกร้อนเป็นหัวข้อที่กว้างมาก อะไรก็เกี่ยวกับโลกร้อนหมดเลย มีช่วงหนึ่งที่คิดว่าไม่รู้ว่าจะทำเป็นอะไรแล้ว ค่อนข้างท้อแท้กับมัน

 

จนถึงวันหนึ่งหนูก็ลองทำ challenge ดู ไปเห็นในยูทูปที่เขาทำแบบวาดภาพสิบวินาที หนึ่งนาทีอย่างงี้ค่ะ เลยลองนำมาใช้โดยกำหนดหนึ่งนาทีแล้วก็คิดคอนเซ็ปท์ออกมาให้ได้ค่ะ คิดว่าถ้าเราได้อะไรก็นำสิ่งนั้นแหละมาเป็นคอนเซ็ปท์หลัก วาดไปหนึ่งนาที ตอนแรกมันไม่ออกมาเป็นไอเดียนี้นะคะ แต่ก็คล้ายๆ แบบนี้ แล้วก็มานั่งคุยกับตัวเองค่ะ อธิบายงานที่ตัวเองร่างไว้ให้ตัวเองฟังอีกที อธิบายไปมามันก็เริ่มเข้ากับคอนเซ็ปท์งานนี้ค่ะว่าในเมื่อหัวข้อมันกว้างมาก ทำไมเราถึงไม่ลดขอบเขตให้มันใกล้เรามากขึ้น ในชุมชนประมาณนี้ค่ะ นอกจากจะเป็นตัวแทนเยาวชนแล้วยังเป็นตัวแทนชุมชนปางมะผ้าซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นชนเผ่าด้วยค่ะ 

 

พอเราหันมามองชุมชนของเรา ก็เหมือนในไอเดียของงานเลยค่ะว่าเขาก็ไม่รู้ บางอย่าง เช่น การทำเกษตร ก่อนปลูกเขาก็ต้องทำความสะอาด เตรียมไร่ก่อนปลูก ส่วนใหญ่ก็จะเน้นเผา ถ้าไม่เผา ถางหญ้าอะไรอย่างงี้สุดท้ายก็ต้องลงเอยที่เผาอยู่ดี หนูมองว่ามันก็เป็นส่วนที่ทำให้เป็นมลพิษทางอากาศ แต่ว่าเขาไม่รู้ค่ะว่าส่วนเล็ก ๆ ที่เขาทำก็ส่งผลกระทบต่อโลกเหมือนกัน ส่วนใหญ่มันก็จะลงเอยแบบนี้ จนรู้มีความรู้สึกว่าจริงๆแล้วเขาก็ไม่ได้ผิดนะคะเพราะเขาไม่รู้ตั้งแต่แรก 

เลยอยากจะเป็นตัวแทนบออกหลาย ๆ คนค่ะว่าชุมชนของเรายังมีหลายคนที่ไม่รู้เกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ค่ะ สิ่งไหนที่ส่งผลกระทบต่อโลก และอยากเผยแพร่ความเชื่อเกี่ยวกับการเคารพนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของคนในชุมชนด้วย

 

สรุปโดยรวมเกี่ยวกับปัญหาก็เรื่องกรอบความคิดค่ะ ไม่ได้ตีกรอบความคิดไว้มันเลยทำให้ฟุ้งซ่าน แต่พอลงมือทำก็มีปัญหาเพราะว่าเราไม่ได้มีภาพในหัวที่ชัดเจน รูปแบบก็เปลี่ยนไปแต่ละวันที่ทำงานเลยค่ะ เราก็ปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ 

 

เราจงใจให้สีเหมือนธงชาติหรือเปล่า?

มันมาเรื่อยๆ ค่ะน่าจะเป็นความบังเอิญ แต่ตอนแรกก็คิดว่าจะใส่เป็นธงชาติเข้าไปอยู่แล้วค่ะ มันไม่รู้จะแทรกตรงไหน

 

จากที่เราได้แก้ไอเดียมาหลายครั้งเพราะที่ผ่านมารู้สึกว่ายังไม่ใช่ส่วนไหนของภาพนี้ที่ทำให้เรารู้สึกว่าภาพนี้มันใช่สำหรับเราหรือเป็นสิ่งที่เราอยากจะสื่อ?

น่าจะเป็นหมอกควันที่เป็นรูปหน้าคนค่ะ ตอนแรกไม่ได้คิดว่าจะเป็นหน้าคนค่ะ ตอนแรกอยากทำให้เห็นว่าเป็นควันที่เกิดจากความเชื่อ ตอนแรกก็มีไอเดียว่าจะให้มันดูเป็นวิญญาณที่สื่อถึงความเชื่อด้วยค่ะ 

 

เรื่องกระบวนการ ระหว่างพัฒนางาน มีคนอื่นเข้ามามีส่วนร่วมไหม?

ตอนแรกหนูคิดว่าจะไปศึกษาเพื่อน รู้สึกว่าเพื่อนก็มีความคิดที่ออกเราคล้าย ๆ กันเลยค่ะ แล้วก็ได้ไปปรึกษาครูบ้าง แต่ที่โรงเรียนไม่มีครูศิลปะที่เป็นเฉพาะทางเลยไม่สามารถปรึกษาเรื่องศิลปะได้ ส่วนมากงานนี้ออกมาก็ด้วยการที่นั่งคุยกับตัวเองค่ะ สิ่งที่ทำให้คิดได้คือคุณตา ที่เป็นคนอุปถัมป์หนูค่ะ เขาก็ไม่ได้มาวางแผนช่วยเราในเรื่องนี้ค่ะ แต่เขาจะคุยกับเราตลอด เคยมีถามว่าถ้าสมมติไปงานนิทรรศการจะแต่งตัวอย่างไร ตอนนั้นเขาแนะนำว่าใส่ชุดชนเผ่าไปจะได้ประมาณว่าเป็นตัวแทน ตอนแรกหนูก็ไม่เข้าใจนะคะ แต่พอมานั่งคิด หลัง ๆ ก็รู้สึกว่าชุดนั้นที่เขาบอกในตอนแรกมันก็ทำให้หนูคิดว่าถึงงานตัวนี้ค่ะว่า ทำไมเราไม่นึกถึงชุมชนนะ ทำไมเรามองไกล ไม่มองใกล้ ๆ ตัวเราบ้าง ไม่มองอะไรที่เป็นเอกลักษณ์ของเราหรือสิ่งที่เราคุ้นเคยมันฝนปัจจุบันนี้แล้วอะไรประมาณนี้ค่ะ นั่นคือจุดเริ่มต้นของงานนี้เลยจริง ๆ ค่ะ ชุดชนเผ่าที่เขาแนะนำให้เราใส่

เราได้เรียนรู้อะไรในมุมมองต่อ climate change ก่อนและหลังทำงานชิ้นนี้ ?

ค่อนข้างเปลี่ยนนะคะ แต่อาจจะเปลี่ยนไม่มากแบบเห็นได้ชัดเจน เมื่อก่อนหนูก็จะมองว่าโลกร้อนก็รู้ว่าเป็นสิ่งที่ใกล้ตัว แต่ไม่ได้รู้ละเอียดขนาดนั้น แต่พอมาทำงานนี้แล้วทำให้รู้สึกว่าโลกร้อนมันอยู่ใกล้ตัวและทำให้เรามีความคิดที่หลากหลายมากขึ้น นอกจากจะเป็นความคิดของเราเองแล้ว แต่ก็มีการลองคิดแทน[ในมุมมอง]คนอื่น เช่น ของชาวบ้านอะไรอย่างงี้ค่ะ แล้วเราก็ได้ลองสำรวจ สังเกตรอบๆชุมชน จนมองเห็นว่าชุมชนเราก็ไม่มีใครรู้เรื่องนี้นอกจากคนที่โรงเรียน ถึงแม้จะเป็นเด็กนักเรียนเขาก็ไม่ได้ให้ความสนใจมาก เพราะสุดท้ายแล้ว เขาก็กลับมาใช้ชีวิตแบบเดิม เรามองว่ามุมมองมันอาจจะไม่ได้เปลี่ยน แต่มันอาจจะเปิดให้เห็นถึงปัญหาของชุมชนมากกว่าค่ะ มองเห็นปัญหาของสภาพสังคมที่เราอาศัยอยู่และปัจจัยต่าง ๆ ของปัญหาค่ะ

 

อยากฝากอะไรถึงคนทั่วไปในประเด็นสิ่งแวดล้อม

การตระหนักถึงปัญหาโลกร้อน ไม่ถึงกับว่าให้ทุกคนมารณรงค์หรือเคร่งครัดอะไรขนาดนั้น แต่ว่าอยากให้ทุกคนรู้ว่าโลกร้อนคืออะไร สำคัญกับเราอย่างไร ส่งผลอะไรกับเรา และสิ่งเล็กๆอะไรที่เราสามารถทำให้มันดีขึ้นได้อย่างงี้ค่ะ เพราะมันเป็นสิ่งที่เราเจอในชีวิตประจำวันอยู่แล้วถ้าแต่ละคนช่วยกันคนละเล็กละน้อยก็จะช่วยได้มากเลยค่ะ 

อยากฝากอะไรถึงคนที่อาจจะไม่เข้าใจความหลากหลายและมุมมองต่อ climate change 

ไม่อยากให้ทุกคนพอเห็นปุ้ปก็ตัดสินว่าโทษชาวบ้านค่ะ เพราะที่หนูทำงานนี้ก็อยากสื่อให้เห็นว่าส่วนใหญ่เขาไม่รู้ค่ะ ไม่อยากให้ทุกคนมองเขาว่าเขาเป็นคนผิดค่ะ สำหรับหนูมองว่าคนที่ไม่รู้เขาไม่ได้ผิดค่ะ อาจจะมีบางส่วนที่เขา[เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ]รู้แต่ก็ยังทำเพราะว่าไม่รู้อีกทีค่ะว่าการที่เขาทำแล้วมันส่งผลกระทบต่อเขาอย่างไร 

 

ช่วงนี้ก็มีการพยายามรณรงค์และให้ความรู้มากขึ้นค่ะ หลัก ๆ คืออยากสื่อว่าเราไม่รู้ค่ะ บางทีที่ทุกคนเห็นในทีวีหรือสื่อต่าง ๆ ที่ว่ามีการเผาที่เกิดจากการเกษตร อยากให้ทุกคนรู้ว่าเขาทำไปเพราะเขาไม่รู้จริง ๆ ค่ะ บางทีเขาไม่รู้เลยว่าการที่เขาไม่ทำแบบนี้ มันจะมีวิธีไหนที่จะช่วยให้เขาจัดการได้ดีขึ้นค่ะ

 

คิดว่าจะทำอย่างไรถึงทำให้คนที่ไม่รู้ให้เขารู้ หรือคิดว่ามันควรเริ่มแก้ปัญหาจากตรงไหน ? 

วิธีเริ่มต้นก็คงเป็นการรณรงค์ อบรมค่ะ เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อให้เห็นปัญหาและแก้ไข แต่หนูก็มองว่าวิธีแบบนี้มันไม่ได้ช่วยอะไรมากเลย หลักๆ คือถ้าเป็นไปได้ การที่เขาทำแบบนี้เพราะเขาได้ประโยชน์ มันเร็ว มันง่ายต่อหลายๆ อย่าง ถ้าเราอยากให้เปลี่ยน เราต้องมีวิธีรองรับสำหรับการที่เขาทำอยู่แล้ว เปลี่ยนจากการเผาเป็นอะไรอย่างงี้ค่ะ หนูลองคิดว่าไม่ว่าจะวิธีไหนสุดท้ายมัยก็ลงเอยที่เผาอยู่ดี พอจะทำเป็นปุ๋ยเกษตรหมักอินทรีย์มันก็นานค่ะ ด้วยความที่ค่าแรงที่นี่มันค่อนข้างต่ำกว่าทีอื่นอยู่แล้ว แต่ค่าครองชีพก็สูงแบบปกติอะค่ะ มันทำให้เขาต้องการหาเงินอยู่แล้ว เขาคงไม่มาทำอะไรที่มันใช้เวลานานอยู่แล้ว แล้วการเกษตรที่เขาทำมันก็ไม่ได้[กำไร]มาก ส่วนใหญ่เขาลงทุนไปก้อนหนึ่ง ได้กลับมาก็ไปใช้หนี้ มันก็เหลือแค่ครึ่งเดียว ก็ได้ไม่เยอะ เขาก็เลยต้องทำวิธีที่มันรวดเร็วค่ะ หนูเลยคิดว่ามันต้องขึ้นอยู่กับองค์กรต่าง ๆ แล้วค่ะว่าถ้าอยากให้เขาเปลี่ยนมันก็ต้องมีวิธีอื่นมารองรับ ไม่ใช่อยู่ๆมาบอกให้เขาเลิกทำค่ะ 

 

อีกด้านหนึ่งอาจจะเป็นเรื่องส่งเสริมและให้ความรู้ค่ะ โดยเฉพาะในระบบการศึกษา หนูเห็นว่าในห้องเรียนก็สอนเรื่องหลักๆ พื้นฐาน ไม่ได้อธิบายให้เข้าใจมาก หนูอยากให้มีการให้เด็กออกมาสำรวจ สังเกตอะไรต่าง ๆ เพื่อปลูกฝัง และพูดคุยหาวิธีแก้ปัญหากันค่ะ ถ้าเราปลูกฝังตั้งแต่เล็ก ๆ พอโตขึ้นเขาก็จะมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้นค่ะ 

bottom of page