top of page

Normal That We Are Used to

ชุดภาพถ่าย 6 ภาพ เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันที่เราคิดว่ามันปกติ

โดย วรัญญา มามั่งคั่ง

Meet the Artist

Film Slate Marker

วรัญญา มามั่งคั่ง

ตอง นักเรียนชั้นม.5 จากมัธยมสาธิตพัทยา ชื่นชอบภาพถ่ายและสนใจศิลปะการถ่ายภาพ เพราะมันช่วยให้ได้เก็บมุมมองที่เราเห็นแต่ละสิ่งออกมาเป็นภาพ ตองได้ทำกิจกรรมและเข้าร่วมชมรมเกี่ยวกับการถ่ายภาพที่โรงเรียนมาเสมอ การได้เข้าร่วมโครงการยุวทูต CCCL เป็นก้าวแรกที่ตองได้ออกมาทำงานนอกเหนือจากโครงการที่โรงเรียน ในอนาคตตองอยากจะทำงานด้านการพัฒนาสื่อที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนได้ ตองได้มีโอกาสทำกิจกรรมบูรณาการความรู้ที่โรงเรียนซึ่งมีเรื่องพลังงานสะอาดรวมอยู่ด้วย จึงทำให้อยากสานต่อแนวคิดนั้นโดยการสื่อสารเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านศิลปะภาพถ่าย

แสดงความคิดเห็นต่อผลงาน

บทสัมภาษณ์วรัญญา มามั่งคั่ง (ตอง)

24 กรกฎาคม 2564

 

ไอเดียมาจากไหน ?

เริ่มจากที่ได้ยินบทสนทนาระหว่างครูลูกกอล์ฟกับคุณฮิวโก้ในรายการ English Room เป็นประโยคที่ครูลูกกอล์ฟถามว่า “ถ้าโลกของเราเป็นมนุษย์ได้ เขาคนนั้นจะตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ในโลกยุคปัจจุบันอย่างไรบ้าง?

คุณฮิวโก้ตอบว่า “ถ้าโลกเราเป็นมนุษย์ เขาคงต้องไปพบแพทย์” ค่ะ ตรงนี้เราคิดว่ามันน่าสนใจ เลยอยากหยิบตัวบุคคลมาเล่น บวกกับมุมมองที่เรามองว่าคนไทยเขาสามารถติดตลกได้กับหลายๆเรื่องอะค่ะ ซึ่ง[ในความรู้สึกส่วนตัว]มันดูเป็นอะไรที่ปกติ แต่จริงๆ แล้วมันไม่ปกติ ก็เลยอยากหยิบความรู้สึกตรงนี้มาใช้ในงานของเราด้วยอะค่ะ เลยออกมาเป็นชื่อว่า Normal that We Used to ค่ะ

อยากให้อธิบายว่าไอเดียความไม่ปกติ ทำไมเราเลือกสื่อสารผ่าน collection ภาพถ่ายในความไม่ปกติต่างๆ ที่คนมองว่าปกติ

ถ้าในมุมมองคนทั่ว ๆ ไป เขาก็จะคิดว่ามันปกติใช่ไหมคะ แต่ถ้าเราลองได้มองลึกลงไป เราอาจจะเจอปัญหาอะไรบางอย่าง ซึ่งถ้าเราไม่ได้สนใจมันอะไรขนาดนั้น เราก็จะมองว่ามันเป็นเรื่องปกติต่อไป ดังนั้นภาพแต่ละภาพ มันอาจจะไม่ได้บ่งบอกออกมาชัดเจน แต่อยากจะให้ลองสังเกตไปในจุดต่าง ๆ ของแต่ละภาพค่ะ ว่ามันมีอะไรที่เป็นเรื่องราวและที่เป็นปัญหาด้วยส่วนหนึ่ง

 

เหตุผลที่เลือกใช้ภาพถ่ายเพราะคิดว่ามันสามารถสะท้อนออกมาให้เราดูแล้วตีความหมายได้อีกหลายรูปแบบเหมือนกันค่ะ และคิดว่ารูปภาพมันมีความซับซ้อนในตัวเอง เหมือนกับความปกติไม่ปกติ ค่ะ

 

ประเด็นหลักที่อยากให้คนเห็นคืออะไร ?

จริงๆ แล้วสามารถตีความได้หลายแบบ อาจจะมีเรื่องอื่นนอกเหนือจาก climate change ก็ได้ แต่ว่าหลัก ๆ แล้ว ถ้ามองลงไปลึก ๆ อาจจะเจอจุดที่บอกว่ามันอาจจะเป็นเรื่องนี้นะ แล้วหลังจากนั้นก็อยากให้คนดูสามารถตีความได้เองในหลากหลายรูปแบบค่ะ

 

มุมมองของเราที่มองสังคมไทยกับความไม่ปกติ ไอเดียนี้มันมาสู่ไอเดียการทำงานของเราได้อย่างไร

อยากแรกคือความรู้สึกมันเกิดขึ้นตอนที่เราเดินไปมาตามถนน เราก็เห็นถังขยะ เรามองไปก็เห็นว่าขยะทุกอย่างมันใส่ผสมกันไปหมดเลยถึงแม้ว่าถังจะมีแยกสี เราก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่ มันดูเป็นเรื่องที่คนเราหลาย ๆ คนทิ้งขยะที่ไม่ตรงประเภทเป็นเรื่องปกติ เราก็คิดว่าจริง ๆ แล้วมันไม่ปกติ คิดว่าไอเดียเรื่อง ปกติที่ไม่ปกติ มันขยายไปถึงเรื่องอื่นๆด้วยค่ะ อย่างแรกอาจจะเป็นเรื่องบริหารจัดการ การที่เราอาจจะยังมีความเข้าใจไม่ตรงกันในเรื่องการทิ้งขยะและการแยกประเภทขยะ พอเรามองไปเรื่องอื่นๆ ที่มันไม่ปกติเหมือนกัน ก็ทำให้เรารู้สึกไปด้วยว่าปัญหาที่มีความไม่ปกติมันก็อยู่ในหลาย ๆ เหตุการณ์เหมือนกัน อาจจะเป็นเรื่องความเคยชินด้วยรึเปล่าที่มันไม่ได้ถูกแก้ไขอย่างจริงจัง เลยถูกทิ้งให้เป็นปัญหาแบบนี้ต่อไปค่ะ 

อยากจะให้ช่วยแชร์เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เราพบเจอในชุมชนหรือสภาพแวดล้อมที่เราอยู่  

อย่างแรกเรื่องใกล้ตัวที่สุดคือเรื่องขยะ คิดว่าเป็นในหลายพื้นที่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นขยะอะไรพอเราไม่ได้แยกมันก็กองอยู่รวมกัน บางทีการกำจัดไม่ถูกวิธีก็สร้างปัญหา เช่น ต่างจังหวัด เขามีพื้นที่มาก เขาจึงทำการเผาเอา ซึ่งจริงๆแล้วตรงนี้เป็นการกระทำที่ผิดวิธีใช่มั้ยคะ อาจจะเพราะความเคยชินของคนในพื้นที่ด้วยค่ะที่เขาต่อ ๆ กันมาโดยที่ไม่ได้รู้ถึงผลเสียของมันขนาดนั้น

 

อีกเรื่องคือ Fast Fashion ค่ะ เพื่อนรอบตัวเรามีความต้องการซื้อเสื้อผ้าและเครื่องประดับบ่อย ๆ ไม่ว่า collection ไหนออกมาก็จะสนใจ บางทีก็มีเรื่องการใช้แรงงานที่ไม่เหมาะสม ข้อมูลอาจจะยังเข้าไม่ถึงทุกคนรึเปล่า เขาอาจจะยังไม่ทราบ เลยเกิดการสร้างปัญหานี้ไปเรื่อย ๆ 

ลองเอางานให้เพื่อนดูหรือยัง ?

มีคุยเรื่องเกี่ยวกับทางสังคม การวนเวียนอยู่ในวัฐจักรเดิมๆ ในเรื่องของโลกร้อน เขาก็มองว่าเป็นการไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลยเหมือนกัน 

ในลักษณะงานจะทั้งจากภาพและข้อความที่เขียนอธิบาย มันมี sense ของการเสียดสีอยู่ เรามองว่าการเสียดสีจะช่วยให้คนหันมาสนใจตัวงานมากขึ้นและฉุกคิดเรื่องความไม่ปกติหรือไม่อย่างไร?

คิดว่ามันทำให้ฉุกคิดนิดนึงสำหรับตองเอง แต่ในความคิดของตอง มองว่ามันออกมาในเชิงคำพูดปกติอะค่ะ เป็นความคิดปกติทั่วไปที่ถูกถ่ายทอดออกมา พออ่านแล้วเราก็รู้สึกว่าปกติหนิ เหมือนกับว่าไม่มีอะไร แต่ถ้าสังเกตในตัวงานและคำอธิบาย น่าจะเอะใจกับความเหมือนกัน

 

ลองยกตัวอย่างความรู้สึกประสบการณ์จากการชมงานศิลปะจากศิลปินที่เราชอบ Martin Parr

งานของคุณ Martin Parr เราดูแล้วเรารู้สึกว่ามันเป็นภาพที่เหมือนถ่ายทอดชีวิตของคนทั่วไปออกมา เหมือนไม่มีอะไร พอมองเข้าไปแล้ว บางคนอาจคิดว่ามันมีความตลกขำขันรึเปล่า แต่ถ้าเราสังเกตองค์ประกอบในภาพ สมมติว่าภาพหนึ่งมีผู้ชายกับผู้หญิงนั่งอยู่ แล้วเขาติดโลเคชั่นว่าเป็นประเทศไทย เป็นภาพสมัยนานมากแล้วค่ะ แล้วเราก็ไปอ่านคอมเม้นท์ค่อยอ่านและตีความไปพร้อมคนอื่น มีคอมเม้นท์ประมาณว่าภาพนี้ดูแล้วอาจจะไม่มีอะไรนะ แต่ถ้าสังเกตเข้าไป มันคือการสื่อว่าผู้หญิงคนหนึ่งต้องใช้ความรักเพื่อแลกกับบางอย่างในสมัยก่อน และเหตุการณ์หลายๆอย่างที่เกิดขึ้นในไทยตอนนี้ด้วยค่ะ เขาไม่ได้อธิบายชัดเจนค่ะว่ามันเป็นเรื่องเกี่ยวกับแบบนี้นะ แต่เขาจะลงภาพมาแล้วปล่อยให้คนได้แสดงความคิดเห็นในมุมมองของตัวเองค่ะ

 

กระบวนการในการทำงาน เราทำงานกันเป็นทีม มีกระบวนการที่ต้องปรับเปลี่ยน ตั้งแต่ดราฟหนึ่งสองมา เจอปัญหาอะไรบ้าง ?

พอเรารู้ว่าอยากทำอะไร เราก็เริ่มวาง[แผน]เลยค่ะ ปัญหาแรกที่เราเจอคือตั้งแต่วางโมเดลเลยค่ะ ด้วยตัวบุคลิก และเรื่องของเวลาของคนนั้นด้วย รวมทั้งการเดินทางด้วย

 

ปัญหาหนึ่งที่หนูรู้สึกว่าหนักที่สุดก็คือ ความคิดของตัวเอง ค่ะ รู้สึกว่าเป็นพวกคิดมากเลยจับประเด็นไม่ได้สักที  แต่พอได้พี่ ๆ [ทีมงาน CCCL] และเพื่อนรอบข้างช่วยให้คำปรึกษา ก็เลยเข้าที่เข้าทางมากขึ้น

 

อีกปัญหาคือ การที่เราต้องออกนอกพื้นที่อะค่ะ มันทำให้เราต้องแข่งกับเวลาและอื่น ๆ เยอะมาก ไม่ว่าจะเรื่องแสงในแต่ละช่วงเวลา เรื่องสุขภาพกายใจ บางที่สุขภาพใจเพื่อนก็ไม่พร้อม เราก็ต้องรอช่วงที่เพื่อนโอเคขึ้นค่ะ แล้วก็เรื่องเวลาเรียนที่ไม่ตรงกันด้วยค่ะ รวมถึงเรื่องสถานการณ์[โควิด]ตอนนี้ที่เราก็ต้องระมัดระวังตัวเองมากๆ ด้วย ในการหาสถานที่ใช้ในการทำงาน หาพื้นที่คนน้อย ๆ ค่ะ แต่ด้วยการที่ได้เพื่อน ๆ และคนรอบตัวช่วยให้คำปรึกษา มันก็เลยโอเคค่ะ

 

 

ในการทำงานชิ้นนี้ที่ต้องทั้งต่อสู้กับสิ่งภายนอกและความคิดตัวเอง เราคิดว่ามันมีอะไรที่ตกตะกอนในตัวเราหลังจากที่ทำงานชิ้นนี้ไหม ?

ได้เยอะมากเลยค่ะ อย่างแรกคือได้ออกจากเซฟโซนของตัวเอง เราไม่เคยทำอะไรอย่างนี้มาก่อน นี่เป็นโครงการแรกที่เราได้ลงมือทำงานจริงจัง เหมือนเป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะได้เรียนรู้อะไรมากขึ้นค่ะ และเกี่ยวกับเรื่องการคิดในเรื่องต่างๆ มันทำให้เราได้คิดอะไรที่มันค่อนข้างจะลึกซึ้งมากกว่าเดิม ค่อย ๆ คิด ได้เกิดความใจเย็นในการทำงานไปได้ ได้เรื่องการทำงานเป็นทีมกับเพื่อนด้วยค่ะ จริง ๆ เราสนิทกับเพื่อนแค่คนเดียว เราได้ทำงานกับคนที่เราไม่ได้สนิท เลยรู้สึกว่ามันทำให้เราเรียนรู้ที่จะพูดคุยกับคนอื่นมากขึ้นอะไรอย่างงี้ค่ะ 

 

ระหว่างที่ทำงานตัวนี้ เราก็ได้รับรู้และตะหนักถึงปัญหาต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นด้วยค่ะ จากข้อมูลที่เราหาในแต่ละวัน ตรงนี้ทำให้เราได้ย้ำคิดในหลาย ๆ เรื่องเหมือนกันค่ะ

 

 

เราได้เรียนรู้อะไรในมุมมองต่อ climate change ก่อนและหลังทำงานชิ้นนี้ ?

มุมมองเปลี่ยนไปค่ะ ก่อนที่จะทำตัวงานชิ้นนี้ค่ะ เรารับรู้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเหมือนกัน แต่ไม่ได้รู้ข้อมูลที่มากกว่านั้นหรือปัญหาที่ยิบย่อยไปอีก แต่ระหว่างทำงานชิ้นนี้ เราได้ศึกษาหาข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับสถานการณ์ climate change ลึกเข้าไปอีก เราได้อ่านข้อมูลจากหลายเรื่องหลายแห่ง เหมือนกับว่าเราซึมซับปัญหาเหล่านี้เข้าไปค่ะแล้วก็ซึมซับด้วย ทีนี้พอจะทำอะไรเราก็คิดหนักว่าสิ่งที่เราทำ มันจะมีผลกระทบอะไรหรือเปล่ากับอนาคตอะไรอย่างงี้ค่ะ

 

 

ในฐานะเยาวชน เราเห็นการตื่นตัวในเรื่อง climate change ในรุ่นเรามากแค่ไหน ?

มันก็ยังไม่ได้เข้าถึงมากอยู่ดีค่ะ มันเป็นข้อมูลที่ทุกคนควรได้ศึกษาเพิ่มเติมมากยิ่งขึ้นเข้าไปอีก ไม่ว่าเราจะทำอะไร อยากให้ทุกคนคำนึงถึงผลที่มันจะตามมาด้วยค่ะ ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม อาจจะไม่ใช่สถานการณ์ climate change อย่างเดียวค่ะ

 

 

เราคิดว่าเรามี impact มากขนาดไหนในการเปลี่ยนแปลงประเด็นสิ่งแวดล้อมและอื่นๆในประเทศไทย เราคิดว่าพลังเยาวชนมีความสำคัญมากแค่ไหน?

ด้วยความที่ทุกวันนี้ข้อมูลเข้าถึงทุกๆคนได้ และวัยรุ่นก็สามารถหาข้อมูลได้ทั่วไป เราสามารถเห็นข้อมูลต่าง ๆ ได้ ก็คิดว่าเราควรกดเข้าไปอ่าน และแชร์ข้อมูลไปให้คนอื่นด้วยค่ะ

 

หนูคิดว่าเสียงของเยาวชนตอนนี้มันสำคัญมากๆ เพราะว่าในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ ยุคเราทุกคนตื่นตัวในหลายๆเรื่องมากเหมือนกัน คิดว่าคนอื่นก็จะมีการตื่นตัวด้วยเหมือนกัน พอเรารู้ว่าข้อมูลไหนมันดี เราก็น่าจะแบ่งปันให้คนอื่นได้รับรู้ด้วย และช่วยกันเผยแพร่ข้อมูบลที่มีประโยชน์ที่จะช่วยกันดูแลรักษาธรรมชาติด้วยเหมือนกันค่ะ 

 

อยากฝากอะไรกับคนทั่วไปที่จะได้มาดูงานเรา

หวังว่าผลงานชิ้นนี้จะทำให้หลาย ๆ คนได้ตระหนักถึงปัญหาที่มันเกิดขึ้นในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น คิดว่าจะให้ทุกคนได้มีความคิดหลาย ๆ อย่างที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งหนูคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีที่เราจะได้แบ่งข้อมูลและแบ่งความคิดที่มันแตกต่างกันออกไป อาจจะมีข้อมูลบางตัวที่ทำให้คนอื่นฉุกคิดเรื่องนี้ขึ้นมาก็ได้ค่ะ แต่ละคนอาจจะมีวิธีการรับสารที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นก็อยากให้คนที่มาดูงานได้แชร์ข้อมูลสถานการณ์ที่มันเกิดขึ้นทุกวันนี้ให้คนอื่นได้รู้เหมือนกันค่ะ

 

คิดว่างานศิลปะแบบภาพถ่ายมีความสำคัญอย่างไรกับประเด็น climate change และ หลังจากนี้อยากทำงานเพื่อนำเสนอปัญหานี้อีกไหม ?

 

หนูคิดว่างานภาพถ่ายมีส่วนที่จะช่วย เป็นการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบของปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วยเหมือนกันค่ะ อาจจะเพราะว่ามันดูได้ง่ายและสามารถตีความได้หลายรูปแบบเหมือนกันค่ะ เลยรู้สึกว่ามันเป็นทางเลือกที่ดีอีกทางหนึ่งที่จะใช้ในการสื่อความหมายในสิ่งต่าง ๆ ที่เราอยากจะสื่อออกมาค่ะ 

 

ในอนาคต คิดว่าอาจจะทำในเชิงประชาสัมพันธ์ หรือเชิงเสียดสีแบบนี้ต่อไปเพื่อให้คนได้คิดและตระหนักค่ะ คิดว่ามันน่าจะสร้างประโยชน์ได้เหมือนกันค่ะ

bottom of page